หลายคนอาจรู้จักน้ำมันหอมระเหยในฐานะน้ำมันที่สกัดได้จากพืชธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่จะอุดมไปด้วยคุณประโยชน์จากพืชเท่านั้น แต่น้ำมันหอมระเหยยังมีความอ่อนโยนสูงจึงสามารถนำมาเป็นส่วนผสมได้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ 

แต่นอกเหนือจากประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยที่หลายคนรู้จักแล้ว น้ำมันหอมระเหยจากพืชธรรมชาตินี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยซ่อนอยู่อีกมาก แถมยังมีวิธีสกัดน้ำมันหอมระเหยที่แตกต่างกันออกไปและให้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย แต่จะเป็นอย่างไรนั้น มารู้จักน้ำมันหอมระเหยให้มากขึ้นในบทความนี้กัน

น้ำมันหอมระเหยคืออะไร?

น้ำมันหอมระเหย (Essential oils) คือ สารประกอบอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้นและเก็บไว้ในส่วนต่าง ๆ ของพืช อีกทั้งยังมีกลิ่นเฉพาะตัวและน้ำหนักที่เบามาก ซึ่งวิธีสกัดน้ำมันหอมระเหยนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว วิธีทำน้ำมันหอมระเหยแบบการกลั่นไอน้ำจะได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากเป็นวิธีสกัดที่ปราศจากสารแปลกปลอมเจือปน จึงทำให้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้มีความบริสุทธิ์ 100%  

ด้วยองค์ประกอบเคมีอินทรีย์ธรรมชาติที่เต็มไปด้วยตัวยานับร้อยชนิด น้ำมันหอมระเหยจึงมาพร้อมสรรพคุณที่กว้างขวาง สามารถช่วยบำบัดร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ได้ นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยยังมีน้ำหนักที่เบาและมีโมเลกุลขนาดเล็ก จึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมและรับประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยได้ในระยะเวลาอันสั้น

น้ำมันหอมระเหยคืออะไร?
พืชสร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นมาเพื่ออะไร?

คลายสงสัย! พืชสร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นมาเพื่ออะไร?

เช่นเดียวกับมนุษย์ พืชเองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่สามารถพบเจอปัญหาได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศัตรูพืช เชื้อโรค รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยพิบัติ แต่ในทางตรงกันข้าม พืชนั้นไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองเพื่อหลีกหนีภัยอันตรายได้ 

ด้วยเหตุนี้ พืชจึงสร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นมาเพื่อช่วยให้ตัวเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ ดังนั้น สรรพคุณน้ำมันหอมระเหยส่วนมากจึงสามารถช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรค ปรับสมดุล ตลอดจนการต่อต้านอนุมูลอิสระได้

นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยยังเป็นตัวกลางสำคัญที่ช่วยให้พืชสื่อสารซึ่งกันและกัน อีกทั้งกลิ่นหอมที่เป็นคุณสมบัติน้ำมันหอมระเหยยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยล่อแมลงมาให้ช่วยผสมเกสรและขยายพันธุ์ได้อีกด้วย

กลไกการทำงานของน้ำมันหอมระเหย

ภายในน้ำมันหอมระเหยจะมีองค์ประกอบเคมีอินทรีย์จากพืชธรรมชาติรวมตัวกันอยู่นับพันชนิด ซึ่งสารต่าง ๆ เหล่านี้จะมีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับร่างกายของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ร่างกายของเราจึงสามารถใช้ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยได้อย่างเต็มที่ 

ที่สำคัญ สารที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยสกัดจากธรรมชาติ ยังมีขนาดโมเลกุลที่เล็กมาก จึงสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบฉนวนป้องกัน (Blood-Brain Barrier) เข้าสู่สมองและประสาทส่วนกลาง ซึ่งควบคุมการทำงานด้านความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ตลอดจนส่วนที่ควบคุมสั่งการผลิตฮอร์โมนและสารสื่อประสาทต่าง ๆ นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยยังสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือด และเดินทางไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ออกฤทธิ์ในการปรับสมดุลและส่งผลต่อทุกระบบอวัยวะของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลไกการทำงานของน้ำมันหอมระเหย

น้ำมันหอมระเหยออกฤทธิ์เร็วแค่ไหน

หลายคนอาจเข้าใจว่า น้ำมันหอมระเหยจะซึมเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการสัมผัสผิวหนัง หรือการรับประทานเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว น้ำมันหอมระเหยสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายได้ตั้งแต่การได้กลิ่นทางจมูก และจะใช้เวลาเพียง 22 วินาทีในการเดินทางไปถึงสมอง จากนั้นในเวลาเพียง 2 นาทีก็จะสามารถตรวจพบในกระแสเลือด และภายใน 20 นาทีจะเดินทางไปยังทุกระบบอวัยวะทั่วร่างกาย

น้ำมันหอมระเหยออกฤทธิ์เร็วแค่ไหน

วิธีสกัดน้ำมันหอมระเหย มีกี่แบบ

แม้จะเป็นน้ำมันหอมระเหยเหมือนกัน แต่วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามส่วนที่ต้องการสกัด ชนิดพันธุ์พืช รวมไปถึงความบริสุทธิ์ที่ต้องการ ซึ่งวิธีทำน้ำมันหอมระเหยนั้นสามารถทำได้ 3 วิธีหลัก ประกอบไปด้วย

1. วิธีสกัดแบบการกลั่นไอน้ำ (Steam Distillation)

เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันคือ เพราะนับว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ต้นทุนไม่สูง และได้คุณภาพสูง วิธีนี้พืชปริมาณมากจะถูกวางบนตะแกรงเพื่อให้ไอน้ำที่เกิดจากหม้อต้มไอน้ำจากด้านล่างระเหยผ่านขึ้นมาและนำพาโมเลกุลของสารอินทรีย์หอมระเหยในพืชให้ลอยตัวผ่านเข้าไปในท่อ แล้วเคลื่อนตัวผ่านไปยังท่อเกลียวที่หล่อน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิ เมื่อไอหอมระเหยถูกความเย็นจึงควบแน่นเป็นน้ำสกัดน้ำมันหอมระเหย (Hydrosol หรือ Floral Water หรือ Herbal Water ) และน้ำมันหอมระเหย (Essential oils) ลอยอยู่ส่วนบนของน้ำ

วิธีสกัดแบบการกลั่นไอน้ำ (Steam Distillation)

2. วิธีสกัดด้วยตัวทำละลาย (Solvent Extraction)

พืชบางชนิดไม่สามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ด้วยการกลั่นไอน้ำ เนื่องจากตัวพืชมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยสะสมที่น้อย ไม่เข้มข้นมากพอ พืชมีความบอบบางสูง หรือกลิ่นของตัวพืชนั้นถูกความร้อนทำลายได้ง่าย ดังนั้น เพื่อการกลั่นน้ำมันหอมระเหยสกัดจากธรรมชาติเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด ผู้เชี่ยวชาญจึงได้พัฒนาวิธีทำน้ำมันหอมระเหยโดยการใช้ตัวทำละลายสกัดออกมา โดยวิธีนี้จะเหมาะกับการสกัดดอกไม้ที่บอบบาง เช่น ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ ดอกซ่อนกลิ่น เป็นต้น 

การสกัดน้ำมันหอมระเหยด้วยวิธีนี้จะเริ่มต้นด้วยนำพืชไปแช่ในสารที่เป็นตัวทำละลาย เช่น Hexane หรือ Benzene เพื่อดึงเอาสารประกอบเคมีต่าง ๆ ในพืชออกมา โดยสารที่ถูกดึงออกมานี้ไม่ได้มีเพียงน้ำมันหอมระเหยเท่านั้น แต่ยังมีสารอื่น ๆ เจือปนออกมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น สี ไขแว็กซ์ และสารประกอบเคมีพืชชนิดอื่น ๆ

จากนั้น ในขั้นตอนต่อไปจะเป็นการระเหยตัวทำละลายออกจากสารสกัด เหลือไว้แค่ Concrete หรือก็คือสารหอมระเหย สี ไขแว็กซ์ และสารประกอบเคมีพืชอื่น ๆ ที่รวมอยู่ด้วยกัน โดย Concrete นี้จะมีลักษณะข้น ๆ เหนียว ๆ และกลิ่นเข้มข้น อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำ Solid ต่อได้

ในขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการสกัดน้ำมันหอมระเหยออกมาจาก Concrete ซึ่งทำได้โดยการใช้เอทิลแอลกอฮอล์ในการแยกเอาไขแว็กซ์ที่อยู่ใน Concrete ออกไป และดึงสารต่าง ๆ ที่ละลายได้ในแอลกอฮอล์ออกมาเป็นสารละลายในแอลกอฮอล์ จากนั้นจึงระเหยแอลกอฮอล์ออกไป เหลือไว้แต่สารหอมระเหย สี และสารประกอบเคมีที่เหลือบางส่วน ซึ่งผลผลิตที่ได้จากขั้นตอนสุดท้ายนี้เรียกว่า Absolute ไม่ใช่ Essential Oil เนื่องจากมีส่วนผสมของสีและสารอื่น ๆ ปนอยู่กับน้ำมันหอมระเหย

วิธีสกัดด้วยตัวทำละลาย (Solvent Extraction)

3. วิธีการสกัดแบบสกัดเย็น (Cold Pressed Extraction)

วิธีการสกัดแบบสกัดเย็น เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมสกัดพืชหอมประเภทส้ม มะนาว เบอร์กามอท ซึ่งมีต่อมสะสมน้ำมันหอมระเหยอยู่ใต้เปลือกผิว 

การสกัดน้ำมันหอมระเหยด้วยวิธีการนี้จะเริ่มต้นจากการนำผลไม้ลำเลียงผ่านเข้าไปในเครื่องบดอัดไฮโดรลิคเพื่อคั้นเอาน้ำมันหอมที่สะสมที่เปลือกผิวออกมา หลังจากถูกบดอัดก็จะได้ทั้งน้ำมันหอม (Essential Oil) น้ำคั้นผลไม้(Juice) และกากเปลือก หลังจากนั้น ตัวเครื่องจะลำเลียงสารต่าง ๆ นี้ไปกรองกากเปลือกและน้ำคั้นผลไม้ออก 

วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยแบบใช้เครื่องอัดไฮโดรลิคเป็นวิธีที่ไม่ผ่านความร้อน จึงทำให้สามารถเก็บกลิ่นเปรี้ยวแหลมของน้ำมันหอมระเหยตระกูลส้มและมะนาวได้อย่างครบถ้วน ต่างจากกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยตระกูลส้มที่สกัดด้วยวิธีกลั่นไอน้ำ ซึ่งจะมีกลิ่นนุ่มละมุน ไม่เปรี้ยวแหลม

อย่างไรก็ดี น้ำมันหอมระเหยตระกูลส้มที่สกัดด้วยวิธีสกัดเย็น หรือใช้เครื่องอัดไฮโดรลิคจะมีสารประกอบเคมีที่เรียกว่า Furocoumarin ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการระคายเคืองผิว หรือทำให้ผิวไหม้เมื่อโดนแสงแดด (Phototoxicity) ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพผิว หากต้องการน้ำมันหอมระเหยตระกูลส้มมะนาว ควรเลือกใช้ชนิดที่สกัดด้วยวิธีกลั่นไอน้ำเท่านั้น

เพียงเท่านี้ ทุกคนก็ได้รู้จักน้ำมันหอมระเหยมากขึ้น ตลอดจนเข้าใจถึงวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยประเภทต่าง ๆ เพื่อเลือกใช้ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยที่เหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม  เพื่อการใช้งานน้ำมันหอมระเหยที่มีประสิทธิภาพ ก่อนตัดสินใจใช้น้ำมันหอมระเหยทุกครั้ง อย่าลืมตรวจสอบอาการแพ้พืชพรรณต่าง ๆ ให้ดีอีกครั้งด้วย

วิธีการสกัดแบบสกัดเย็น (Cold Pressed Extraction)